ผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน
ตาม พรบ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2550 กำหนดให้เจ้าของอาคาร/โรงงานควบคุมต้องจัดทำระบบการจัดการพลังงาน [อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความ “การจัดทำระบบการจัดการพลังงานตามกฎหมาย” และจัดให้มีการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานโดยผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานที่ขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ในรูปแบบบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล
ทีมผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน
ผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน 1 ทีม จะประกอบด้วย ผู้ชำนาญการ 1 คน และ ผู้ช่วยผู้ชำนาญการ 2 คน โดยสามารถตรวจสอบและรับรองฯ ได้ไม่เกิน 30 แห่งต่อปี สำหรับคุณสมบัติของผู้ชำนาญการและผู้ช่วยผู้ชำนาญการเป็นดังนี้
- ผู้ชำนาญการต้องมีสัญชาติไทย มีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม(กว.)ระดับสามัญวิศวกรเครื่องกลหรือภาคีวิศวกรพิเศษเครื่องกล(พลังงาน) และสอบผ่านการฝึกอบรมด้านการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานระดับผู้ชำนาญการ
- ผู้ช่วยผู้ชำนาญการ
ต้องมีสัญชาติไทย และสอบผ่านการฝึกอบรมด้านการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานระดับผู้ช่วยผู้ชำนาญการ
รูปที่ 1 ใบประกาศนียบัตรสอบผ่านการฝึกอบรมระดับผู้ช่วยผู้ชำนาญการ
รูปที่ 2 ใบประกาศนียบัตรสอบผ่านการฝึกอบรมระดับผู้ผู้ชำนาญการ
รูปที่ 3 ใบอนุญาตตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน
หน้าที่ของผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน
- ตรวจสอบการจัดการพลังงาน โดยพิจารณาความครบถ้วนและถูกต้องของเอกสารและหลักฐาน การปฏิบัติจริง รวมถึงการสัมภาษณ์พนักงาน
- เสนอข้อคิดเห็นการปรับปรุงวิธีการดำเนินการจัดการพลังงาน
- จัดทำรายงานการตรวจสอบ และรายงานผลการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน
ผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน จะดำเนินการตรวจสอบการจัดการพลังงานตามกฎหมาย 8 ขั้นตอนว่าอาคาร/โรงงานควบคุมดำเนินการถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายหรือไม่ โดยพิจารณาความสอดคล้องของการดำเนินการจัดการพลังงานขององค์กรกับข้อกำหนดวิธีการจัดการพลังงานตามกฎหมาย โดยต้องมีเอกสารหลักฐาน การสัมภาษณ์พนักงาน และการปฏิบัติการจริงภายในองค์กร ซึ่งการตัดสินความสอดคล้องจะแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบด้วยกัน ดังนี้
- ผ่านการตรวจสอบ หมายถึง อาคาร/โรงงานควบคุมปฏิบัติตามข้อกำหนดถูกต้องครบถ้วน
- ผ่านการตรวจสอบแต่ให้แก้ไขในปีต่อไป หมายถึง เกิดความไม่สอดคล้องประเภทไม่ร้ายแรง (Minor) เช่น เอกสารที่ปรากฏกับการปฏิบัติจริงไม่สอดคล้องกัน มีการเผยแพร่ประกาศต่างๆอย่างไม่ทั่วถึง ไม่มีการลงนามในนโยบายพลังงาน เป็นต้น กล่าวโดยรวมคือ “Minor = มีการดำเนินการแต่ตกหล่นไปบ้าง”
- ไม่ผ่านการตรวจสอบ หมายถึง เกิดความไม่สอดคล้องประเภทร้ายแรง (Major) เช่น ไม่มีเอกสารในการดำเนินการจัดการพลังงาน ไม่มีหลักฐานในการปฏิบัติ ไม่มีการแต่งตั้งคณะทำงานด้านการจัดการพลังงาน ไม่จัดอบรมอนุรักษ์พลังงาน ไม่จัดทำแผนอนุรักษ์พลังงาน ไม่มีการเผยแพร่ประกาศ/คำสั่งต่างๆ เป็นต้น กล่าวโดยรวมคือ “Major = ไม่มีการดำเนินการ”
ลักษณะของผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานที่ดี
ผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานที่ดีต้องมีจรรยาบรรณ เที่ยงธรรม ซื่อตรง เปิดใจกว้างยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น และกล้าตัดสินใจ เพราะการจัดการพลังงานในแต่ละอาคาร/โรงงานควบคุมย่อมมีความแตกต่างกัน ความรู้ความสามารถของผู้รับผิดชอบด้านพลังงานก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆให้ได้ พร้อมทั้งให้ความรู้เพื่อพัฒนาระบบการจัดการพลังงานแก่อาคาร/โรงงานควบคุมต่อไป
ทั้งนี้หากต้องการให้ ZERO ENERGY เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานให้แก่อาคาร/โรงงานควบคุมของท่าน สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่เมนู “บริการของเรา” เลือกหัวข้อ “ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน”