คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) เทรนโลกยุคใหม่ที่กำลังมาแรง
ภาวะโลกร้อนกำลังเกิดขึ้น อันเนื่องมาจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีความเข้มข้นสูงขึ้นในชั้นบรรยากาศ ซึ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นก๊าซเรือนกระจกชนิดหนึ่งอันส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน จะเห็นได้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกสูงขึ้นมาโดยตลอด
ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ภัยธรรมชาติรุนแรงมากขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้สิ่งมีชีวิตมีที่อยู่อาศัยน้อยลง รวมถึงมนุษย์ที่อาจไม่สามารถอยู่อาศัยบริเวณแถบชายฝั่งทะเลได้ในอนาคต
รูปที่ 1 ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน [1]
รูปที่ 2 ระดับอุณหภูมิผิวโลกที่สูงขึ้น [1]
รูปที่ 3 ปริมาณมวลน้ำแข็งขั้วโลกที่เปลี่ยนแปลงไป [1]
รูปที่ 4 ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น [1]
ในปัจจุบันนี้ทั่วโลกจึงร่วมมือกันลดความรุนแรงจากปัญหาภาวะโลกร้อน หลายประเทศประกาศเจตนารมณ์ในการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) โดยคนในสังคมต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ เช่น ใช้พลังงานสะอาดแทนพลังงานฟอสซิล ปลูกต้นไม้ในเมือง ใช้รถพลังงานไฟฟ้า (รถ EV) แทนรถน้ำมัน ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโครงการสีเขียวต่างๆ ที่ช่วยกระตุ้นให้ภาคเอกชนให้ความร่วมมือในการก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำด้วยกัน เช่น ฉลากเขียว, Eco School, Green Hotel, Green Office, Green Building, Green Industry เป็นต้น ภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการจะได้ประกาศนียบัตรรับรอง เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กรของตน และยังสามารถเพิ่มมูลค่าธุรกิจได้อีกด้วย
รูปที่ 5 สัญลักษณ์โครงการฉลากเขียว [2]
รูปที่ 6 สัญลักษณ์โครงการ Eco School [3]
รูปที่ 7 สัญลักษณ์โครงการ Green Hotel [4]
รูปที่ 8 สัญลักษณ์โครงการ Green Industry [5]
การใช้กลไกราคาในการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็เป็นอีกเครื่องมือที่ใช้ในการควบคุม โดยการออกกฎหมายกำหนดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถปล่อยได้ หากปล่อยเกินกว่าสิทธิที่ได้รับก็ต้องจ่ายค่าปรับ แต่ถ้าสิทธิการปล่อยเหลือก็สามารถขายสิทธิให้ผู้อื่นได้ สิทธิที่ขายเรียกกว่า “คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)” การจะซื้อขายคาร์บอนเครดิต จะทำการซื้อขายในตลาดคาร์บอน (Carbon Market) ของแต่ละประเทศ (คล้ายๆตลาดหุ้น) ซึ่งราคาแต่ละตลาดจะไม่เท่ากัน ขึ้นกับความเข้มข้นของกฎหมายในประเทศนั้นๆ ถ้าประเทศใดมีค่าปรับสูง ราคาคาร์บอนเครดิตในตลาดก็สูงตาม นอกจากนี้ราคาในแต่ละวันจะเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการซื้อ-ขาย (Demand-Supply) สำหรับตลาดคาร์บอนในประเทศไทยคือตลาด TVER (Thailand Voluntary Emission Reduction) ซึ่งเป็นตลาดภาคสมัครใจ ไม่ได้มีผลผูกพันทางกฎหมาย
รูปที่ 9 ราคาคาร์บอนเครดิตแต่ละตลาด [6]
รูปที่ 10 กราฟแสดงราคาคาร์บอนเครดิตรายวัน [7]
รูปที่ 11 กราฟแสดงราคาคาร์บอนเครดิตย้อนหลัง 10 ปี [7]
สำหรับในประเทศไทย การจะได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิต จะต้องทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นที่ยอมรับ มีทั้งหมด 6 ประเภท ได้แก่
1. การพัฒนาพลังงานทดแทน
2. การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน
3. การจัดการขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และวัตดุเหลือใช้
4. การจัดการในภาคขนส่ง
5. ป่าไม้และพื้นที่สีเขียว
6. การเกษตร
ฉลากคาร์บอนหรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) เป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยสนับสนุนการก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ คาร์บอนฟุตพริ้นท์คือเครื่องหมายที่ติดบนตัวสินค้า เพื่อให้ผู้ซื้อได้ทราบว่าสินค้าดังกล่าวปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไรตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้งาน และ การกำจัดเมื่อกลายเป็นของเสีย ผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นการแสดงออกให้ผู้บริโภคเห็นว่าสินค้าชนิดนี้มีการบริหารจัดการเรื่องก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ผู้ซื้อยังสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวเปรียบเทียบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับสินค้าชนิดเดียวกันของยี่ห้ออื่น ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ บางประเทศอาจไม่ให้สินค้าที่ไม่ได้รับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ส่งเข้าไปขายเลยทีเดียว เรียกได้ว่าเป็นกลไกในการกีดกันทางการค้าอย่างหนึ่ง
รูปที่ 12 สัญลักษณ์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของประเทศไทย [8]
หากท่านผู้อ่านสนใจเรื่องคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) สามารถติดต่อให้ ZERO ENERGY เข้าไปบรรยายภายในองค์กรของท่านได้ ทั้งนี้สามารถอ่านรายละเอียดหลักสูตรได้ที่ เพจ “อบรมอนุรักษ์พลังงาน (In-house Training)“
เรียบเรียงข้อมูลโดย: ชลทศ ประเทืองสุขพงษ์
เอกสารอ้างอิง
1. https://climate.nasa.gov/
2. https://www.tei.or.th/greenlabel/labs.html
3. https://ecoschool.deqp.go.th/
4. http://www.greenhotel.deqp.go.th/public/
5. https://greenindustry.diw.go.th/webgi/green-industry-condition/
6. https://carboncredits.com/carbon-prices-today
7. https://tradingeconomics.com/commodity/carbon 8. http://thaicarbonlabel.tgo.or.th/?lang=th