การจัดทำระบบการจัดการพลังงานตามกฎหมาย
ตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2551 กำหนดให้อาคารควบคุม และ โรงงานควบคุม* ต้องมีการดำเนินการจัดการพลังงานตามกฎหมาย โดยจัดทำเป็นเล่มรายงานการจัดการพลังงานส่งให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)
หมายเหตุ :
อาคารควบคุม หมายถึง อาคารที่มีการติดตั้งหม้อแปลงขนาดมากกว่า 1175 kVA ภายในเลขที่บ้านเดียวกัน
โรงงานควบคุม หมายถึง โรงงานที่มีการใช้พลังงานมากกว่า 20 ล้านMJ ต่อปี ภายในเลขที่บ้านเดียวกัน
การจัดการพลังงานตามกฎหมาย ประกอบด้วย 8 ขั้นตอน ดังนี้
1. แต่งตั้งคณะทำงานด้านการจัดการพลังงาน
2. ประเมินสถานภาพการจัดการพลังงานเบื้องต้น
3. จัดทำนโยบายอนุรักษ์พลังงาน
4. ประเมินศักยภาพการอนุรักษ์พลังงาน
5. การกำหนดเป้าหมายและแผนการอนุรักษ์พลังงาน แผนการฝึกอบรมอนุรักษ์พลังงาน และแผนกิจกรรมพลังงาน
6. ดำเนินการตามแผนฯ (ข้อ 5) พร้อมทั้งตรวจสอบ-วิเคราะห์การปฏิบัติตามเป้าหมายและแผนฯ
7. ตรวจติดตามและประเมินผลโดยคณะผู้ตรวจสอบการจัดการพลังงานภายในองค์กร
8. ทบทวนวิเคราะห์และแก้ไขข้อบกพร่อง
รูปที่ 1 การจัดการพลังงาน 8 ขั้นตอน [1]
แนวทางการดำเนินการจัดการพลังงานแต่ละขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1 : แต่งตั้งคณะทำงาน
เจ้าของอาคาร/โรงงานควบคุม จะต้องดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานด้านการจัดการพลังงาน ประกอบด้วยประธานคณะทำงาน เลขานุการ และสมาชิก พร้อมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะทำงานอย่างน้อยดังต่อไปนี้
- ดำเนินการจัดการพลังงานให้สอดคล้องกับนโยบายอนุรักษ์พลังงาน
- ประสานงานกับหน่วยงานอื่นในการจัดการพลังงาน รวมทั้งจัดฝึกอบรมอนุรักษ์พลังงานและจัดกิจกรรมพลังงานเพื่อสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์พลังงานของบุคลากร
- ควบคุมให้การจัดการพลังงานเป็นไปตามนโยบาย
- รายงานผลการอนุรักษ์พลังงาน และการจัดการพลังงาน ให้เจ้าของอาคาร/โรงงานควบคุมทราบ
- เสนอแนะ ทบทวน ระบบการจัดการพลังงาน ให้เจ้าของอาคาร/โรงงานควบคุมพิจารณา
- สนับสนุนเจ้าของอาคาร/โรงงานควบคุม ในการจัดการพลังงาน
เมื่อเสร็จสิ้นการแต่งตั้งคณะทำงานฯ ให้ประกาศคำสั่งดังกล่าวให้พนักงานทุกคนรับทราบอย่างทั่วถึง
รูปที่ 2 แผนผังโครงสร้างคณะทำงานด้านการจัดการพลังงาน
ขั้นตอนที่ 2 : การประเมินสถานการณ์การจัดการพลังงานเบื้องต้น
ตามกฎหมายกำหนดให้เจ้าของอาคาร/โรงงานควบคุม ที่เริ่มนำระบบการจัดการพลังงานมาใช้เป็นครั้งแรก ให้ทำการประเมินสถานภาพการจัดการพลังงานเบื้องต้น โดยใช้ Energy Management Matrix (EMM) ดังรูปที่ 3 ซึ่งจะประเมิน 6 ด้านด้วยกัน ได้แก่ 1.นโยบายพลังงาน 2.การจัดองค์กร 3.การกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจ 4.ระบบข้อมูลข่าวสาร 5.การประชาสัมพันธ์ 6.การลงทุน ข้อมูลที่ได้รับจากการประเมินจะบอกถึงจุดอ่อน/จุดแข็งของการจัดการพลังงานที่ผ่านมา(สำหรับอาคาร/โรงงานควบคุมที่ผ่านการจัดการพลังงานมาแล้ว) และยังใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายอนุรักษ์พลังงาน(สำหรับอาคาร/โรงงานควบคุมที่จะดำเนินการจัดการพลังงานเป็นครั้งแรก)
รูปที่ 3 Energy Management Matrix (EMM)
ขั้นตอนที่ 3 : จัดทำนโยบายอนุรักษ์พลังงาน
เจ้าของอาคาร/โรงงานควบคุม จะต้องแสดงเจตจำนงและความมุ่งมั่นในการจัดการพลังงาน โดยจัดทำเป็นเอกสารและลงลายมือชื่อ ทั้งนี้การจัดทำนโยบายอนุรักษ์พลังงานควรมีรายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้
- การอนุรักษ์พลังงานถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานขององค์กร และผู้บริหารองค์กรต้องให้ความสำคัญในการปฏิบัติการจัดการพลังงาน
- สนับสนุนให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงาน โดยการปฏิบัติตามแนวทางการจัดการพลังงาน เพื่อมุ่งเน้นการลดการใช้พลังงานและต้นทุนการผลิต
- กำหนดให้มีการนำเสนอแผนการอนุรักษ์พลังงานจากแผนกงานต่างๆเพื่อร่วมพิจารณาเป็นเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงาน โดยมีการทบทวนเป้าหมายตามการใช้พลังงานอย่างเหมาะสม
- มุ่งเน้นปฏิบัติตามแนวทางการจัดการพลังงานของ พ.ร.บ. ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน(ฉบับปรับปรุง)พ.ศ.2550 เพื่อให้มีการอนุรักษ์พลังงานภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ
- กำหนดให้มีการทบทวนนโยบายการจัดการพลังงาน เป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานและแผนปฏิบัติงานการอนุรักษ์พลังงานอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- ส่งเสริมให้มีการจัดฝึกอบรมอนุรักษ์พลังงานเพื่อสร้างให้ความรู้ความเข้าใจแก่พนักงานภายในองค์กรเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานและการจัดการพลังงาน เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกอนุรักษ์พลังงานและให้แนวทางปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
- ทำการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงานขององค์กร เพื่อมุ่งไปสู่การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า
เมื่อเสร็จสิ้นการจัดทำนโยบาย ให้ประชาสัมพันธ์นโยบายดังกล่าวให้พนักงานทุกคนรับทราบอย่างทั่วถึง
รูปที่ 4 การประชาสัมพันธ์นโยบายอนุรักษ์พลังงาน
ขั้นตอนที่ 4 : การประเมินศักยภาพในการอนุรักษ์พลังงาน
เจ้าของอาคาร/โรงงานควบคุมจะต้องทำการประเมินศักยภาพการอนุรักษ์พลังงาน โดยตรวจสอบและประเมินการใช้พลังงานที่มีนัยสำคัญ การตรวจสอบและประเมิน มี 3 ระดับ ได้แก่
- ระดับองค์กร
- ระดับผลิตภัณฑ์
- ระดับเครื่องจักรและอุปกรณ์
การประเมินศักยภาพจะทำให้ทราบถึงต้นทุนทางพลังงาน ได้เปรียบเทียบประสิทธิภาพการใช้พลังงานระหว่างผลิตภัณฑ์ และยังใช้เป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการอนุรักษ์พลังงานอีกด้วย
รูปที่ 5 สัดส่วนการใช้พลังงาน
ขั้นตอนที่ 5 : กำหนดเป้าหมายและแผนการอนุรักษ์พลังงาน
เจ้าของอาคาร/โรงงานควบคุมต้องจัดให้มีการกำหนดเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงานของพลังงานที่ประสงค์จะให้ลดลง โดยกำหนดเป็นร้อยละของปริมาณพลังงานที่ใช้เดิม หรือกำหนดระดับของการใช้พลังงานต่อหนึ่งหน่วยผลผลิต (Specific Energy Consumption, SEC) นอกจากนี้ยังต้องจัดทำแผนการฝึกอบรมอนุรักษ์พลังงาน และแผนกิจกรรมพลังงาน เพื่อให้ความรู้ด้านอนุรักษ์พลังงานและปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์พลังงานแก่พนักงาน การจัดทำแผนให้ระบุ ผู้รับผิดชอบ / ระยะเวลาการดำเนินการ / การลงทุน / ผลที่คาดว่าจะได้รับ จากนั้นให้ดำเนินการประชาสัมพันธ์แผนดังกล่าวให้พนักงานทุกระดับรับทราบอย่างทั่วถึง
รูปที่ 6 เป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน
รูปที่ 7 แผนการฝึกอบรมอนุรักษ์พลังงานและแผนกิจกรรมพลังงาน
ขั้นตอนที่ 6 : ดำเนินการตามแผนขั้นตอนที่ 5 พร้อมทั้งตรวจสอบ-วิเคราะห์การปฏิบัติตามเป้าหมายและแผน
เจ้าของอาคาร/โรงงานควบคุมต้องควบคุมดูแลให้มีการดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงาน แผนฝึกอบรมอนุรักษ์พลังงาน และแผนกิจกรรมพลังงาน โดยให้คณะทำงานด้านการจัดการพลังงาน ดำเนินการประชุมติดตามความคืบหน้าอย่างน้อยสามเดือนต่อครั้ง
รูปที่ 8 ดำเนินการอนุรักษ์พลังงาน [2]
รูปที่ 9 การฝึกอบรมอนุรักษ์พลังงาน
ขั้นตอนที่ 7 : ตรวจติดตามและประเมินผลโดยคณะผู้ตรวจสอบการจัดการพลังงานภายในองค์กร
เจ้าของอาคาร/โรงงานควบคุมต้องจัดให้มีการตรวจติดตามและประเมินการจัดการพลังงานอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยทีมตรวจประเมินควรมีอย่างน้อย 2 คน ที่มีความเชื่ยวชาญแตกต่างกัน และมีอิสระในการดำเนินการ โดยหน้าที่ของคณะผู้ตรวจประเมิน มีดังนี้
- ตรวจสอบระบบการจัดการพลังงานภายในองค์กร
- ตรวจสอบองค์กรให้ดำเนินการบรรลุผลตามนโยบายด้านพลังงาน
- จัดทำสรุปผลการตรวจประเมินภายใน ส่งให้คณะทำงานด้านการจัดการพลังงานและเจ้าขององค์กร
การตรวจสอบพิจารณาจาก รายงาน / เอกสาร / การสัมภาษณ์ / แบบสอบถาม เมื่อการตรวจสอบเสร็จสิ้น ให้เผยแพร่ผลการตรวจสอบให้พนักงานทุกคนได้รับทราบอย่างทั่วถึง
รูปที่ 11 แผนผังโครงสร้างคณะผู้ตรวจประเมินระบบการจัดการพลังงาน
ขั้นตอนที่ 8 : ทบทวน วิเคราะห์ และแก้ไขข้อบกพร่องระบบการจัดการพลังงาน
เจ้าของอาคาร/โรงงานควบคุมต้องจัดให้มีการเพื่อทบทวน วิเคราะห์ และแก้ไขข้อบกพร่องของการจัดการพลังงาน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง การทบทวนจะเริ่มวิเคราะห์การจัดการพลังงานตั้งแต่ขึ้นตอนที่ 1 – 7 เพื่อวิเคราะห์ว่าควรมีการพัฒนา-ปรับปรุง-แก้ไข ในปีต่อไปอย่างไรบ้าง
หลังจากที่ดำเนินการจัดการพลังงานครบ 8 ขั้นตอน ทางโรงงานควบคุม/อาคารควบคุม จะต้องให้ผู้ตรวจสอบรับรองการจัดการพลังงาน เข้ามาตรวจสอบระบบการจัดการพลังงานภายในองค์กร เพื่อออกรายงานผลการตรวจสอบและรับรอง ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป (อ่านบทความ “ผู้ตรวจสอบและรับรองการตรวจสอบพลังงาน“)
ทุกคนจะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วการจัดการพลังงานตามกฎหมายไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด ทั้งนี้หากต้องการให้ ZERO ENERGY ของเราเป็นที่ปรึกษาการจัดการพลังงานในองค์กรของท่าน สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่เมนู “บริการของเรา” เลือกหัวข้อ “ที่ปรึกษาพลังงาน” หรือสนใจให้ ZERO ENERGY เข้าไปอบรมหลักสูตรการจัดทำระบบการจัดการพลังงานตามกฎหมายในองค์กรของท่าน สามารถดูรายละเอียดได้ที่เมนู “บริการของเรา” เลือกหัวข้อ “อบรมอนุรักษ์พลังงาน”