มอเตอร์ประสิทธิภาพสูง
มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่มีใช้งานทั่วไปในโรงงานอุตสาหกรรม เพราะเป็นต้นกำลังของอุปกรณ์ทางกลหลายชนิด เช่น พัดลม, เครื่องสูบน้ำ, เครื่องอัดอากาศ และ เครื่องจักรสำหรับกระบวนการผลิต เป็นต้น โดยมอเตอร์ไฟฟ้าที่เป็นที่นิยมใช้มากที่สุดคือมอเตอร์ไฟฟ้าเหนี่ยวนำ (Induction Motor) เนื่องจากมีโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อนจึงง่ายต่อการบำรุงรักษา ประกอบกับมีราคาถูก
มอเตอร์ไฟฟ้าเหนี่ยวนำจะใช้กำลังไฟฟ้ามากหรือน้อย ขึ้นกับ 2 ปัจจัย ได้แก่
1. ภาระที่ต้องขับเคลื่อน กล่าวคือ หากเราใช้มอเตอร์พัดลมตัวเดิมแต่เปลี่ยนใบพัดลมให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้ได้ปริมาณลมมากขึ้น มอเตอร์ย่อมต้องใช้กำลังไฟฟ้ามากขึ้น หรือ กรณีที่โรงงานมีมอเตอร์สายพานลำเลียงสินค้า 100 kg แต่ใส่น้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 120 kg ส่งผลให้มอเตอร์ต้องออกแรงขับมากขึ้น กำลังไฟฟ้าจึงมากขึ้นตาม และหากเกินกว่าพิกัดที่มอเตอร์รับได้ มอเตอร์ก็จะเสียหาย (Overload)
2. ประสิทธิภาพมอเตอร์ตัวนั้นๆ : ประสิทธิภาพคือ กำลังที่มอเตอร์ขับเคลื่อนได้/กำลังไฟฟ้าที่ใส่เข้าไป นั่นหมายความว่ามอเตอร์ประสิทธิภาพสูง(หรือที่เรียกกันว่า “มอเตอร์ประหยัดพลังงาน”) จะใช้กำลังไฟฟ้าน้อยกว่าในขณะที่ให้กำลังขับเคลื่อนเท่ากับมอเตอร์ไฟฟ้าเหนี่ยวนำมาตรฐาน
รูปที่ 1 ตารางเปรียบเทียบประสิทธิภาพมอเตอร์ไฟฟ้าเหนี่ยวนำมาตรฐานและมอเตอร์ประสิทธิภาพสูง [1]
สาเหตุที่มอเตอร์ประสิทธิภาพสูง(มอเตอร์ประหยัดพลังงาน) มีประสิทธิภาพที่ดีกว่ามอเตอร์ทั่วไป เป็นเพราะมีการใช้แผ่นเหล็กที่มีคุณภาพสูง แกนเหล็กยาวขึ้น ขดลวดใหญ่ขึ้น อย่างไรก็ตามราคามอเตอร์ประสิทธิภาพสูง ก็ย่อมแพงกว่ามอเตอร์มาตรฐานเช่นกัน ดังนั้นก่อนเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ประสิทธิภาพสูงต้องพิจารณาก่อนว่าค่าใช้จ่ายมอเตอร์ที่แพงขึ้นคุ้มค่ากับผลประหยัดพลังงานที่ได้รับหรือไม่
ZERO ENERGY เปิดอบรมหลักสูตร “การอนุรักษ์พลังงานมอเตอร์ไฟฟ้าเหนี่ยวนำ” สามารถอ่านรายละเอียดหลักสูตรได้ที่หน้าเพจ “อบรมอนุรักษ์พลังงาน”
เรียบเรียงข้อมูลโดย: ชลทศ ประเทืองสุขพงษ์
อ้างอิง
1. คู่มือผู้รับผิดชอบพลังงานอาคาร, การอนุรักษ์พลังงานสำหรับมอเตอร์
2. กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, หลักสูตรอนุรักษ์พลังงานด้านไฟฟ้า : มอเตอร์